ข่าวสำคัญในตลาด Forex

ข่าวสำคัญในตลาด Forex รู้จักกับข่าว Forex

ข่าวสำคัญในตลาด Forex

ข่าวสำคัญในตลาด Forex รู้จักกับข่าว Forex

ข่าวสำคัญในตลาด Forex สำหรับการเทรดหรือลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ หรือตลาดค่าเงิน



รู้จักกับ ข่าวสำคัญในตลาด Forex

สำหรับการเทรดหรือลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ หรือตลาดค่าเงิน (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดค่าเงินได้ทีบทความ : Forex คือ) เทรดเดอร์จะต้องพบเจอคำว่า “ข่าว Forex” เนื่องจากเป็นสิ่งที่มักจะตัดสินความเป็นความตายให้กับการเทรดระยะสั้นๆ โดยเฉพาะบรรดา Day Trading ซึ่งความจริงแล้ว ชื่ออย่างเป็นทางการจริงๆ เวลาที่คนบอกว่า “อย่าลืมดูข่าว Forex” คือสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิทินเศรษฐกิจ” (Economic Calendar)

ปฏิทินเศรษฐกิจ (Economic Calendar) คือ กำหนดการอย่างเป็นทางการในการเผยแพร่ข้อมูลทางเศรษฐกิจ หรือการประกาศนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ข่าวสําคัญ Forex ต่างๆ ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น การประกาศอัตราดอกเบี้ย ตัวเลขเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปในหัวข้อถัดไป

สำหรับเฉพาะเทรดเดอร์ โดยเฉพาะในเมืองไทยนั้น เหตุผลที่เรานิยมเรียก “ปฏิทินเศรษฐกิจ” ว่าเป็นข่าว Forex ก็เพราะว่า การประกาศสิ่งต่างๆ ในปฏิทินเศรษฐกิจ มักจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน หรือ Forex หรืออธิบายในมุมกลับกันก็คือ เพราะตลาด Forex นั้นอ่อนไหวต่อการประกาศตัวเลขในปฏิทินเศรษฐกิจ เราจึงนิยมเรียกปฏิทินดังกล่าวว่า “ข่าว Forex”



ข่าว Forex สำคัญอย่างไร

โปรดทราบว่า ต่อไปนี้เราจะเรียก “ปฏิทินเศรษฐกิจ” ด้วยคำว่า “ข่าว Forex” เพื่อความสะดวก โดยตัวเลขที่ประกาศในตารางข่าว Forex นั้น คือ ข้อมูลที่แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ รวมถึงแนวทางที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจจะดำเนินการกับประเทศดังกล่าว ดังนั้น

  • ข่าวฟอเร็กซ์ต่างๆ ที่ประกาศในปฏิทิน จึงเป็นข้อมูลที่เราจะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข่าว Forex รวมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) อีกด้วย
    • ข่าวฟอเร็กซ์เกือบทุกข่าวจะส่งผลต่อแนวโน้มของคู่เงิน Forex ในระยะสั้นหรือทันที!
    • ข่าวฟอเร็กซ์บางข่าวจะส่งผลต่อแนวโน้มระยะยาวของคู่เงินต่างๆ
    • ข่าวฟอเร็กซ์จะส่งผลต่อตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพวก GDP, PMI


ข่าวฟอเร็กซ์มีอะไรบ้างที่สำคัญ


  • การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls)
    • Nonfarm Payrolls นั้นเรียกได้ว่า เป็นตัวเลขที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะคนที่เทรดตลาดหุ้นอเมริกา และส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสกุลเงิน U.S.Dollar และแน่นอนว่า มันส่งผลกระทบต่อสกุลเงินอื่นๆ ที่เป็นคู่ตรงข้ามกับดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงคนที่ต้องเทรดทองคำอีกด้วย ตัวเลขนี้ดูแลโดยสำนักงานสถิติสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics) โดยจะประกาศทุกวันศุกร์ของสัปดาห์แรกของทุกเดือน
    • ตัวเลข Nonfarm Payrolls คือ “ตัวเลขการจ้างงาน” ของสหรัฐฯ ซึ่งจะนับรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ, อุตสาหกรรม, คนทำงานออฟฟิศ ฯลฯ แต่จะไม่นับรวมคนที่เรียกว่า “Nonfarm” หรือภาคการเกษตรและครัวเรือน รวมถึงกลุ่ม NGOs ต่างๆ ด้วย โดยจะเป็นการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงว่า มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นจำนวนมากน้อยขนาดไหนเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
    • Nonfarm Payrolls สะท้อนนัยที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะหากตัวเลขเพิ่มขึ้น แปลว่ามีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า มีคนมีงานทำมากขึ้น มีรายได้เมื่อนำมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว นอกจากนี้ นัยสำคัญอีกประการของ Nonfarm Payrolls คือความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจ เพราะหากมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ก็แปลว่า เจ้าของธุรกิจมีความพร้อมและความมั่นใจที่จะเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป
    • หาก Nonfarm Payrolls ประกาศออกมา “ดีกว่าคาดการณ์” จะทำให้ U.S. Dollar แข็งค่าขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้รับผลเชิงบวก แต่จะส่งผลลบต่อ “ทองคำ”
    • แต่หาก Nonfarm Payrolls ประกาศออกมา “แย่กว่าคาดการณ์” จะทำให้ U.S. Dollar อ่อนค่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้รับผลเชิงลบ แต่จะส่งผลดีต่อ “ทองคำ” เพราะทองคำเป็นคู่ตรงข้ามกับดอลลาร์
  • Unemployment Rate
    • ตัวเลขนี้คือ “อัตราการว่างงาน” เรื่องนี้สำคัญมากๆ แต่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน โดยว่าการประกาศ Unemployment Rate ออกมามีตัวเลขที่สูง ก็แปลว่า “คนตกงานเยอะ” นั่นจะส่งผลเสียต่อทั้งตลาดหุ้นและค่าเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Decision)
    • การประกาศอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลาง หมายถึง ดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เพื่ออ้างอิง หรือส่งสัญญาณให้ธนาคารเอกชนต่างๆ ปฏิบัติให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบาย การปรับเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยมันจะส่งผลต่อผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารหนี้ต่างๆ ผลตอบแทนจากเงินฝาก ฯลฯ และส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินอีกด้วย
    • ในที่นี้ จะอธิบายหลักการพื้นฐานคร่าวๆ โดยหากประเทศไหนมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำๆ มันจะหมายถึง ทั้งต่ำทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ หากภาคธุรกิจสามารถกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ก็มีแนวโน้มที่จะมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อไปทำธุรกิจมากขึ้น และเมื่อมีการลงทุนมากขึ้น เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มขยายตัว ดังนั้น
      • หากมีการประกาศ “ลดอัตราดอกเบี้ย” = กระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเงิน มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะขยายตัว
      • หากมีการประกาศ “ขึ้นอัตราดอกเบี้ย” = ดึงคันเร่งทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการกู้ยืมเงินจะหดตัว เศรษฐกิจจะค่อยๆ ชะลอตัวลง
    • โดยทั่วไป หากอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม การลดอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นสูง แต่ค่าเงินมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง เนื่องจากผลตอบแทนจากพันธบัตรต่ำลง เม็ดเงินบางส่วนจึงไหลออกจากตลาดพันธบัตร อย่างไรก็ตาม หากตลาดไม่ได้เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย เช่น มองว่า การลดดอกเบี้ยอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรง ผลลัพธ์ก็อาจตรงกันข้าม ตลาดหุ้นสามารถปรับตัวลงได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญของเรื่องอัตราดอกเบี้ย คือต้องเข้าใจสภาวะรวมๆ ก่อนว่า ณ เวลานั้น ตลาดต้องอะไร? โดยหากตลาดเชื่อว่า การลดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจดี เมื่อมีการประกาศลดดอกเบี้ย ก็จะทำให้ผลลัพธ์ตรงตามตำราทุกประการ
    • ในทางตรงกันข้าม การขึ้นดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยจากตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการไหลเข้าของกระแสเงินไปสู่ตลาดพันธบัตรของประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ย ส่วนใหญ่ทำเพื่อควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัวมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสภาวะเงินเฟ้อ โดยกลไกก็คือพอขึ้นดอกเบี้ยแล้ว มันจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินเพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจก็จะกู้น้อยลง และเมื่อมีการลงทุนน้อยลง เศรษฐกิจก็จะค่อยๆ หดตัว

อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เรื่องมี “ตายตัว” แต่โดยพื้นฐาน (หากเป็นสภาวะที่เหมาะสมหรือปกติ) การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น ส่วนการลดดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลง แต่อย่างที่อธิบายไปแล้ว หากเป็นสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกตินัก เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า ตลาดในช่วงนั้นต้องการนโยบายแบบไหน

  • อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP)
    • ตัวเลขนี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่ทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product แปลเป็นไทยว่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” แนวคิดของ GDP คือการวัด “มูลค่ารวม” ของสินค้าและบริการของประเทศ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ดังนั้น GDP ที่มากขึ้น ย่อมหมายถึง มีการลงทุนและมีการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ซึ่งย่อมจะต้องสอดรับกับความต้องการของประชาชน ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ดังนั้น GDP ที่เป็นบวก จะทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น
  • อัตราเงินเฟ้อ (CPI)
    • CPI ย่อมาจาก Consumer Price Index ซึ่งเป็นการวัด “อัตราการเปลี่ยนแปลง” ของราคาสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำหรือเป็นปัจจัย 4 เช่น อาหาร, ค่าเช่า, ค่าเดินทาง, ต้นทุนเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ เราเรียกมันว่า “อัตราเงินเฟ้อ” (Inflation) นั่นเอง
    • ทั้งนี้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจเป็นปกติ คือไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ขยายตัวจนแทบจะเป็น “ฟองสบู่” หรือตกต่ำและถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง ตัวเลข CPI จะสะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก หากประชาชนมีรายได้ที่ดี ก็จะทำให้มีการใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการต่างๆ และเมื่อมี Demand ในสินค้าเหล่านั้นมากๆ ก็จะทำให้ราคาของสินค้าและบริการค่อยขยับตัวขึ้น ดังนั้น CPI ก็เพิ่มขึ้น โดยทั่วไปจะหมายถึง เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ดังนั้น
      • หากตัวเลข CPI ประกาศออกมาเป็นบวกหรือเขียว = ค่าเงินของประเทศนั้นๆ มักจะแข็งค่าขึ้น
      • หากตัวเลข CPI ประกาศออกมาเป็นลบหรือแดง = ค่าเงินของประเทศนั้นๆ มักจะอ่อนค่าลง
    • อย่างไรก็ตาม หากเป็นสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น เป็นกรณีที่อยู่ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การที่ CPI หรือเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้ส่งผลดีนัก เพราะหากประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอ การที่ภาพรวมเงินเฟ้อสูงขึ้น จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชน การไหวเวียนของเม็ดเงินทางเศรษฐกิจจะมีปัญหา และเศรษฐกิจจะยิ่งถดถอยลงไปอีก
  • ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI)
    • PPI จะคล้ายกรณี CPI แต่เสมือนเป็นสัญญาณแจ้งเตือนในขั้นปฐมภูมิ โดย PPI ย่อมาจาก Producer Price Index หรือ “ดัชนีราคาผู้ผลิต” เป็นดัชนีที่วัดการเปลี่ยนแปลง “ราคาสินค้าที่ผู้ผลิตเป็นคนจำหน่ายเอง ณ แหล่งผลิตนั้นๆ”
    • จะเห็นว่า PPI คล้ายกับกรณีของ CPI ตรงนี้เป็นการวัด “ราคาสินค้า” เพียงแต่ PPI จะเจาะเฉพาะแค่ผู้ผลิตเท่านั้น แต่ CPI จะวัดภาพรวมทั้งราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เช่น ต้นทุนเชื้อเพลิง, โรงพยาบาล, ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ ดังนั้น PPI จะถือว่าเป็นภาพย่อยๆ ใน CPI
    • PPI มีความสำคัญกับบางประเทศมากๆ เช่น สหรัฐฯ, จีน ที่มีรายได้มหาศาลจากการผลิต ทำให้ PPI เป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับประเทศเหล่านี้
  • ดัชนียอดขายปลีก (Retail Sales)
    • ยอดขายปลีก คือสิ่งที่สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ค่อนข้างตรงประเด็น โดยตัวเลข Retail Sales จะเข้าไปวัดและประมวลผลจากยอดการซื้อขายใน “สินค้าสำเร็จรูป” ทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน (อายุการใช้งานสั้นยาว) เรื่อง Retail Sales จะผูกอยู่กับ 2-3 ประเด็น อย่างแรกคือแน่นอนว่า มันสะท้อนว่า ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าเพิ่มขึ้นก็หมายถึง เศรษฐกิจขยายตัว ประเด็นต่อมา คือ Retail Sales เป็นตัวที่บ่งชี้ถึงกำไรของภาคธุรกิจด้วย เพราะหากยอดขายโต บริษัทก็มีแนวโน้มจะกำไรมากขึ้น ดังนั้น ตัวเลขนี้จึงมักส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างมาก
  • ยอดขายบ้าน : Home Sales & Pending Home Sales
    • ยอดขายบ้ายคือสิ่งที่สะท้อนกำลังซื้อของประชาชน ดังนั้น ตัวเลขนี้ตรงไปตรงมา หากยอดขายบ้านเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงแนวโน้มที่น่าจะสดใสของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่าง New Home Sales กับ Pending Home Sales โดย Pending Home Sales จะยังไม่ถึงขั้นตอนของการจ่ายเงิน แต่จะผ่านขั้นตอนส่วนใหญ่ของกระบวนการซื้อขายบ้านแล้ว ทั้งการตรวจโครงการ, การหาสินเชื่อ ฯลฯ ซึ่งสถานะซื้อขายบ้านที่เป็น Pending จะเหลือแค่ลงนามทางกฎหมาย และส่วนใหญ่จะนำไปสู่การปิดการขายได้ในที่สุด (ซึ่งจะชำระเงินในตอนท้าย)
    • ทั้งนี้ New Home Sales และ Pending Home Sales มีความใกล้เคียงกัน และใช้ประเมินเศรษฐกิจได้ดีพอๆ กัน เพราะ Pending Home Sales ส่วนใหญ่มักจะนำไปสู่การปิดการขายได้
  • สำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)
    • PMI ย่อมาจาก Purchasing Managers Index และคือที่บอกว่าสำรวจ เพราะมันเป็นการสำรวจจริงๆ จาก “ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ” ในกลุ่มบริษัทหนึ่งๆ ที่ทำการสุ่มตัวอย่างขึ้นมา ซึ่งจะสำรวจว่า Manager ของบริษัทนั้นๆ มีการสั่งซื้อวัตถุดิบมาใหม่มากน้อยเพียงใด มียอดขายเป็นอย่างไร รอบการขายมากหรือน้อย เป็นต้น แต่จะให้น้ำหนักกับ “ยอดสั่งซื้อวัตถุดิบมาใหม่” มากที่สุด
    • PMI จะคำนวณออกมาเป็นดัชนี ซึ่งจริงๆ หากเพียง PMI ที่เกินกว่า 50 จะแปลว่า “เศรษฐกิจขยายตัว” พูดง่ายๆ คือแค่ 50 ก็ถือว่าดีแล้ว แต่สำหรับการเทรดในตลาด Forex เราต้องดูด้วยว่า การคาดการณ์เป็นอย่างไร เพราะหากเศรษฐกิจดีมากๆ นักเศรษฐศาสตร์ย่อมคาดการ์ไว้สูง ซึ่งถ้าผลลัพธ์ประกาศออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ เช่น คาดการณ์ 70 แต่ประกาศจริง 60 แบบนี้ก็จะส่งผลเชิงลบต่อหุ้น, ค่าเงิน แม้ว่าค่า 60 จะแปลว่า เศรษฐกิจขยายตัวก็ตาม แต่เป็นการขยายตัวที่น้อยกว่าความคาดหวังนั่นเอง

Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *